โรคหน้าฝน วัยซนต้องระวัง!
7 โรค..รว้าย-รว้าย ที่ทำให้พ่อๆ แม่ๆ
อย่างเราต้องอดตาหลับขับตานอน
คอยเป็นพยาบาลจำเป็นให้เจ้าตัวเล็กทั้งคืน
1. โรคไข้หวัดใหญ่
อาการจะเริ่มจากมีน้ำมูกใสๆ ไอ จาม
ตามมาด้วยเป็นไข้ อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ
หากอาการรุนแรงและลุกลามอาจ
มีโรคแทรกซ้อนที่มากับไข้หวัด
ก็คือไซนัสอักเสบ หลอดลมอักเสบ หรือปอดอักเสบได้
.
.
ปัจจุบัน การป้องกันที่ดีที่สุดก็คือ
ฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่เป็นประจำทุกปี
แพทย์จะแนะนำให้ฉีดประมาณ 1- 2 เดือน
ก่อนฤดูกาลระบาด สามารถฉีดได้ในเด็ก
อายุตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไป
และป้องกันการติดเชื้อด้วยการสวมหน้ากากอนามัย
ล้างมือบ่อย ๆ และรับประทานอาหารให้ถูกสุขอนามัย
.
.
2. โรคมือ เท้า ปาก
อาการเริ่มจากมีไข้ต่ำ อ่อนเพลีย
หลังจากนั้น 2-3 วันจะมีอาการเจ็บปาก
มีแผล ตุ่มในช่องปาก กระพุ้งแก้ม
นอกจากนั้นยังมีผื่นแดงหรือตุ่ม
โดยเฉพาะบริเวณฝ่ามือ ฝ่าเท้า และก้น แต่จะไม่คัน
อย่างไรก็ตาม อาการไข้จะหายได้เองภายใน 3 -5 วัน
จากนั้นอาการอื่น ๆ ก็จะค่อย ๆ ดีขึ้น
และหายเป็นปกติภายใน 7-10 วัน
.
.
การป้องกันที่ดีที่สุดคือดูแลเรื่องอาหาร น้ำดื่ม
ควรมีกระติกน้ำ หรือแก้วส่วนตัวเอาไว้ใช้ที่โรงเรียน
และฝึกให้ลูกใช้ช้อนกลางทุกครั้ง ทั้งที่บ้านและที่โรงเรียน
ควรล้างมือบ่อย ๆ และรีบล้างมือให้สะอาดโดยเร็ว
เมื่อสัมผัสกับน้ำมูก น้ำลาย หรือเวลาเปลี่ยนผ้าอ้อม
รวมทั้งหมั่นทำความสะอาดของเล่นเด็ก
และเครื่องใช้ส่วนตัวของลูกด้วย
.
.
3. โรคติดเชื้อทางเดินหายใจจากไวรัส RSV
อาการจะเริ่มจากมีไข้ ไอ จาม หายใจลำบาก
คล้ายกับอาการของไข้หวัด
แต่อาจจะมีอาการเหนื่อยหอบ หายใจเร็ว
และมีเสียงครืดคราด รวมถึงไอหนักมากๆ
ควรรีบพาลูกไปพบแพทย์ในทันที
.
.
การป้องกัน คือ หมั่นล้างมือบ่อยๆ
หลีกเลี่ยงการให้เด็กเล็กอยู่ในสถานที่คนพลุกพล่าน
คุณพ่อคุณแม่ที่มีลูกป่วยควรแยกเด็กออกจากเด็กคนอื่นๆ
เพื่อป้องกันการไอจามแพร่เชื้อ
.
.
4. ไข้เลือดออก
โรคนี้มียุงลายเป็นพาหะนำโรค
อาการเริ่มจากมีไข้สูงมากเกิน 3 วันขึ้นไป
กินยาลดไข้ก็ไม่หาย มีอาการตาแดง
หน้าแดง ปากแดง รู้สึกอ่อนเพลีย
ปวดหัว ปวดกระบอกตา ปวดเมื่อยตามตัว
หากเป็นหนักๆ ส่งผลให้เกิดภาวะตับอักเสบได้
และมีอาการปวดท้องบริเวณชายโครงด้านขวา
เนื่องจากตับโต และมีอาเจียนร่วมด้วย
.
.
การป้องกันที่ดีที่สุดคือ ให้ลูกสวมใส่เสื้อผ้าให้มิดชิด
เพื่อป้องกันยุงกัด
กำจัดแหล่งน้ำขังหรือแหล่งเพาะพันธุ์ยุงในบ้าน
พยายามทำบ้านให้โปร่ง ไม่มีมุมอับทึบ
.
.
5. โรคอีสุกอีใส
โรคนี้มักพบอัตราการป่วยสูงสุดในกลุ่มอายุ 5-9 ปี
เมื่อระบาดแล้ว โรคจะติดต่อกันเป็นทอดๆ
โดยเฉพาะการติดต่อจากเพื่อนที่โรงเรียน
มักจะพบในเด็กที่ไม่เคยป่วยเป็นโรคนี้
หรือไม่เคยฉีดวัคซีนป้องกันโรคนี้มาก่อน
.
.
อาการเริ่มจากมีไข้ต่ำๆ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ และมีผื่นขึ้น
ซึ่งต่อมาจะกลายเป็นตุ่มน้ำใสเกิดขึ้นตามตัว
โดยเริ่มจากบริเวณท้อง ลามไปตามต้นแขน ขา และใบหน้า
หลังจากนั้นจะเกิดเป็นสะเก็ดและแผลเป็นขึ้นได้
มักหายได้เองภายใน 2-3 สัปดาห์
.
.
การป้องกันคือ ดูแลรักษาร่างกายให้แข็งแรง
ป้องกันอย่าลูกเข้าใกล้ผู้ป่วย ล้างมือบ่อยๆ
ปัจจุบันยังมีวัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใส
ซึ่งมีประสิทธิภาพค่อนข้างดี
เริ่มฉีดในเด็กตั้งแต่ 1 ขวบเป็นต้นไป
และฉีดกระตุ้นอีกครั้งตอน 4 ขวบ
.
.
6. โรคท้องเสียหรืออุจจาระร่วง
เกิดขึ้นจากการติดเชื้อไวรัสโรต้า ซึ่งมาจากของเล่น อาหาร หรือของใช้ใกล้ตัวเด็กที่ไม่สะอาด
โดยเฉพาะเด็กเล็กอาจนำสิ่งของเข้าปาก
โดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ทำให้ติดเชื้อและลำไส้อักเสบได้
มีการศึกษาวิจัยพบว่า ในเด็กแรกเกิดถึงอายุ 5 ขวบ
แทบทุกคนจะเคยติดเชื้อนี้มาแล้ว
.
.
อาการส่วนใหญ่จะมีอาการท้องเสีย อุจจาระเหลว อาเจียน
บางรายจะมีไข้สูง กินได้น้อย งอแง ระวังอย่าให้มีภาวะขาดน้ำเด็ดขาด
.
.
การป้องกันควรดูแลสุขลักษณะการกินและการเล่นของลูก
ให้ลูกรับประทานอาหารที่สะอาด ไม่นำเด็กเล็กไป
ในสถานที่แออัด เพราะจะเสี่ยงต่อการแพร่กระจายของเชื้อ
.
.
7. โรคไอพีดีและปอดบวม
โรคไอพีดีคือโรคติดเชื้อชนิดรุนแรง
ที่มีสาเหตุจากเชื้อแบคทีเรีย ‘นิวโมคอคคัส’
ทำให้เกิดการติดเชื้อในกระแสเลือดและที่เยื่อหุ้มสมอง
ซึ่งมีความรุนแรงจนถึงขั้นทำให้เด็กพิการหรือเสียชีวิตได้
โดยเฉพาะในเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 2 ปี
สามารถติดต่อกันได้ระหว่างคนสู่คน
พบโรคนี้ได้มากในสถานที่มีผู้อยู่อาศัยหนาแน่น
.
.
ถ้าติดเชื้อที่ระบบประสาท เช่น เยื่อหุ้มสมองอักเสบ
เด็กจะมีไข้สูง ปวดศีรษะรุนแรง คลื่นไส้ อาเจียน
คอแข็ง เด็กเล็กจะมีอาการซึม และชักได้
ส่วนการติดเชื้อในกระแสเลือด เด็กจะมีไข้สูง
ถ้ารุนแรงอาจทำให้ช็อกและเสียชีวิตได้
.
.
วิธีป้องกันที่ดีที่สุดคือการฉีดวัคซีนให้เด็ก
อายุต่ำกว่า 2 ปี เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยง
ต่อการติดเชื้อสูง ส่วนในเด็กทารกควรเริ่มฉีด
เมื่ออายุได้ 2 เดือนขึ้นไป
และฉีดเข็มต่อไปเมื่ออายุได้ 4, 6 และ 12 - 15 เดือน
ขอขอบคุณข้อมูลจาก :
Bumrungrad.com
Bangkokhospital.com
Siphhospital.com